HIGHWAY @NLINE V3.1 
ทางหลวง ตามพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก ไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน หรือใต้หรือเหนืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น นอกจากทางรถไฟและหมายความรวมถึงที่ดิน พืช พันธุ์ไม้ทุกชนิด สะพาน ท่อหรือรางระบายน้ำ อุโมงค์ ร่องน้ำ กำแพงกันดิน เขื่อน รั้ว หลักสำรวจ หลักเขต หลักระยะ ป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟ เครื่องแสดงสัญญาณที่จอดรถ ที่พักคนโดยสาร ที่พักริมทาง เรือหรือพาหนะสำหรับขนส่งข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นหรือลงรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีอยู่หรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงนั้นด้วย
  หน้าหลัก
  ผู้สอน รศ.นิรชร นกแก้ว
  เนื้อหารายวิชา
      หน่วยที่ 1
        1.1 ประวัติทางหลวง
        1.2 ประเภททางหลวง
        1.3 ระบบงานทางหลวง
      หน่วยที่ 2
      หน่วยที่ 3
      หน่วยที่ 4
      หน่วยที่ 5
      หน่วยที่ 6
      หน่วยที่ 7
      หน่วยที่ 8
      หน่วยที่ 9
  ตัวอย่างประกอบ
  แบบฝึกหัด
  ตำราด้านวิศวกรรมโยธา
 หน่วยที่ 1 ประวัติความเป็นมาของทางหลวงและการจัดระบบงานทางหลวง

ทางหลวงมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การปราศจากระบบทางหลวงที่ดีและเพียงพอย่อมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งทำให้เศรษฐกิจก้าวหน้าไปได้โดยยาก แต่การมีระบบทางหลวงที่ดีและเพียงพอจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจก้าวหน้าไปได้ในอัตราที่สูงขึ้น นอกจากนี้ทางหลวงยังมีบทบาทที่สำคัญในด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของชาติ

จุดประสงค์ของการก่อสร้างทาง มีดังนี้
1. เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งผู้โดยสารหรือขนส่งสินค้าจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่งหรือจากชนบทสู่เมืองได้ด้วยความสะดวกและรวดเร็ว
2. เพื่อกิจการด้านสาธารณูปโภค เช่น การสาธารณูปโภค การศึกษา การไปรษณีย์ เป็นต้น
3. เพื่อช่วยส่งเสริมด้านการลงทุน อุตสาหกรรมและพัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ
4. เพื่อผลในด้านการปกครองและด้านการพัฒนา เช่น การสร้างทางหลวงเข้าไปพัฒนาหมู่บ้าน ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ เป็นต้น

1.1 ประวัติทางหลวง
1.1.1 ประวัติทางหลวงในต่างประเทศ
ยุคก่อนคริสต์ศักราช ประมาณ 3,500 ปี มีการก่อสร้างถนนด้วยหินสายแรกของโลกพบใน Mesopotamia และประมาณ 1,900 ปี ถนนในยุคโรมันสร้างถนนเชื่อมอาณาจักรต่าง ๆ ถนนสายแรกคือ Appian Way จากโรมไปถึงเมืองบรินดิซิในอิตาลี ดังรูปที่ 1.1


รูปที่ 1.1 โครงสร้างทางในยุคโรมัน
ที่มา : จิรพัฒน์ โชติกไกร (2531)


ถนนยุโรป
ประเทศฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 (ค.ศ. 1716-1796) Pierre Tresaguet ได้สร้างถนนที่คำนึงถึงความชื้นที่มีผลต่อกำลังของถนน โดยจัดให้มีการระบายน้ำออกจากถนนและมีการบำรุงรักษาซ่อมแซมให้ถนนใช้การได้ทุกฤดูกาล ดังรูปที่ 1.2 (ก)
ประเทศสหราชอาณาจักร (ค.ศ. 1757-1834) Thomas Telford ได้สร้างถนนโดยการเรียงหินเป็นชั้นด้วยแรงคน ดังรูปที่ 1.2 (ข)
John L. McAdam ได้พัฒนาสร้างถนนให้แข็งแรง โดยเรียงหินเป็นชั้นดังรูปที่ 1.2 (ค) ซึ่งวิธีการนี้ เรียกว่า Macadam Road และใช้ได้ดีในปัจจุบัน


รูปที่ 1.2 โครงสร้างทางของยุโรป
ก. โครงสร้างทางของ Tresaguet
ข. โครงสร้างทางของ Telford
ค. โครงสร้างทางของ McAdam
ที่มา : จิรพัฒน์ โชติกไกร (2531)


ถนนในสหรัฐอเมริกา
ในสมัยแรกได้สร้างถนนที่เรียกว่า Turn Pike เป็นถนนที่เก็บค่าผ่านทางสายแรกเชื่อมระหว่างรัฐเวอร์จิเนียกับรัฐฟิลาเดเฟียโดยให้รถเทียมม้าวิ่ง เริ่มสร้างถนนกันอย่างจริงจังเมื่อศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1920) ได้สร้างถนนให้รถยนต์วิ่งจึงต้องมีการพัฒนาถนนให้ดี ตั้งแต่ยุคนี้เป็นต้นมาได้พัฒนาถนนให้มีมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อย ๆ ให้เหมาะสมกับน้ำหนักของยานพาหนะ มีการศึกษาค้นคว้าในด้านวิชาการให้ได้ถนนที่รับน้ำหนักได้สูง มีความทนทาน ค่าก่อสร้างไม่แพงและค่าบำรุงรักษาต่ำ ดังรูปที่ 1.3


รูปที่ 1.3 รถเทียมม้า
ที่มา : กรมทางหลวง (2545)


1.1.2 ประวัติทางหลวงในประเทศไทย
สมัยกรุงสุโขทัย
• พ.ศ. 1880-1900 สร้างถนนเป็นทางเกวียนที่ใช้โค กระบือ ลากจูงขนสินค้า ขนคนจากไร่นากลับบ้าน พระยาลิไททรงสร้างถนนดินคันทางนอกเมืองครั้งแรก ดังรูปที่ 1.4 มีการตั้งชื่อว่า ถนนพระร่วง ลักษณะเป็นคันดินถมสูงประมาณ 1-2 เมตร กว้างประมาณ 3 เมตร จากสวรรคโลกไปสุโขทัยและไปกำแพงเพชรจากสุโขทัยไปศรีสัชนาลัย ดังรูปที่ 1.5


รูปที่ 1.4 แผนผังถนนพระร่วง
ที่มา : จิรพัฒน์ โชติกไกร (2531)


รูปที่ 1.5 โครงสร้างทางในสมัยสุโขทัย
ที่มา : จิรพัฒน์ โชติกไกร (2531)


สมัยกรุงศรีอยุธยา
• พ.ศ. 1983-2310 ได้สร้างถนนโดยขุดดินข้างทางเป็นคันทาง จะเป็นถนนในเมืองสำหรับทางเท้า ทางเกวียน ดังรูปที่ 1.6 ทางรถม้า โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้แม่น้ำลำคลองเป็นทางสัญจร


รูปที่ 1.6 การเดินทางด้วยเกวียน
ที่มา : กรมทางหลวง (2545)


สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
• พ.ศ. 2404 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ก่อสร้างถนนดิน คือ ถนนเจริญกรุง ถนนพระรามที่ 4 เป็นถนนดินเมื่อรถม้าวิ่งผ่านมีฝุ่นฟุ้งและหน้าฝนก็เกิดหลุมบ่อมีน้ำขัง
• พ.ศ. 2414 สมัยพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ได้สร้างทางหลวงตามแบบยุโรป คือ ทางหลวงสายสงขลา-ไทรบุรี ระยะทาง 90 กิโลเมตร ให้รถม้าวิ่งเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากประพาสประเทศอินเดีย ถนนสายนี้ชื่อว่า ถนนราชดำเนิน ปัจจุบัน คือ ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ช่วงหาดใหญ่-คลองแงะ-บ.คลองพรวน เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 407 ตอนสงขลา–หาดใหญ่
• พ.ศ. 2414-2460 ทางหลวงอยู่ในความดูแลของเจ้าเมืองและสมุหเทศาภิบาล ซึ่งเป็นทางมาตรฐานสำหรับรถม้าตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ระยะทาง 775 กิโลเมตร
• วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2455 โอนกรมคลองมาสังกัดกระทรวงโยธาธิการ แล้วให้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมทาง และเปลี่ยนชื่อกระทรวงโยธาธิการเป็นกระทรวงคมนาคม
• พ.ศ. 2460-2477 การสร้างทางหลวงขึ้นอยู่กับกรมทางในกรมรถไฟหลวง กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม โดยสร้างทางเพื่อขนสินค้ามาป้อนรถไฟมีระยะทางที่สร้างมา 17 ปี ระยะทาง 1,046 กิโลเมตร
• วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 เปลี่ยนกรมทางไปสังกัดกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการรถไฟหลวงเพื่อจะได้ใช้วิศวกรร่วมกัน
• พ.ศ. 2461 มีมาตรฐานในการก่อสร้างทางในประเทศไทยฉบับแรก มีชื่อว่า “สมุดคู่มือในการสร้างทางและบำรุงทาง”
• วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้รวมกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมกับกระทรวงเกษตราธิการ เรียกว่า กระทรวงเกษตรและพาณิชยการ
• วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ให้กรมรถไฟหลวงรวมอยู่ด้วยไปสังกัดกระทรวงเศรษฐการ
• พ.ศ. 2476 เริ่มทดลองลาดยางผิวถนนเยาวราช จากสี่แยกวัดตึกไปสามแยกเป็นครั้งแรก
• วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2477 โอนกรมทางหลวงไปสังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย โดยลดสถานะเป็นกองทาง โดยตั้งหน่วยงานในส่วนภูมิภาค 4 ภาค คือ ภาคเหนือที่จังหวัดลำปาง ภาคกลางที่จังหวัดพระนคร ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลาและภาคอีสานที่จังหวัดขอนแก่น
• พ.ศ. 2478-2498 นำหินมาเรียงตัวเพื่อทำพื้นทางแบบ Telford และ Macadam
• พ.ศ. 2479-2483 สร้างทางมาตรฐานคันทางกว้าง 8 เมตร ผิวทางเป็นหินหรือลูกรังซึ่งกว้าง 5 เมตร ระยะทาง 2,215 กิโลเมตร
• พ.ศ. 2480 สร้างทางคอนกรีตสายกรุงเทพฯ-นครปฐม ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร เป็นสายแรก
• วันที่ 19 สิหาคม พ.ศ. 2484 ยกฐานะจากกองทาง สังกัดกรมโยธาเทศบาล ให้เป็นกรมทาง สังกัดกระทรวงคมนาคม
• พ.ศ. 2490 ค้นพบทรายปนน้ำมันดินที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่สามารถนำมาใช้งานทางมากนัก (มีการทดลองทำผิวลาดยางแบบ Surface Treatment โดยใช้ยาง AC และกรวดโม่บนผิวลูกรังเดิม)
• วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 ย้ายสถานที่ทำงานจากกรมโยธาธิการ มาอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา
• วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2495 เปลี่ยนชื่อกรมทางเป็นกรมทางหลวงแผ่นดิน สังกัดกระทรวงคมนาคม
• พ.ศ. 2498 ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสร้างถนนมิตรภาพ เป็นถนนชั้นหนึ่งผิวลาดยางแอสฟัลต์คอนกรีต และนำมาตรฐานในการออกแบบและสะพานจากสหรัฐอเมริกามาใช้ (AASHO Standard) (การออกแบบผิวทางลาดยางใช้ค่า CBR และ Wheel Load 8,000 ปอนด์ เป็นหลัก) (ทำพื้นทางแบบ Water Bound และ Dry Bound Macadam หินคลุก และ Soil Stabilization ส่วนผิวทางลาดยางแบบ Penetration Macadam Surface Treatment และ Asphaltic Concrete) (เริ่มการบริหารจัดการในงานบำรุงทางโดยทำ Cost Record Inventor ROM-GRAM (Road Maintenance Program))
• พ.ศ. 2502 การออกแบบถนนลาดยางตาม Asphalt Institute โดยได้เพิ่มอีกตัวแปรหนึ่ง คือ ปริมาณจราจรออกแบบและใช้ Wheel Load ใหม่ คือ 10,000 ปอนด์
• พ.ศ. 2503 ตั้งสำนักงานโครงการเงินช่วยเหลือเงินกู้เพื่อควบคุมด้านเงินกู้ (เริ่มออกแบบถนนคอนกรีตตาม1951-PCA Design Chart โดยคำนึงถึง Controlling Wheel Load เป็นหลัก)
• พ.ศ. 2504 ก่อตั้งตำรวจทางหลวง
• พ.ศ. 2505 ก่อตั้งศูนย์เครื่องมือกลขอนแก่น
• พ.ศ. 2506 เปลี่ยนชื่อกรมทางหลวงแผ่นดินเป็นกรมทางหลวง ในสังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ย้ายกองทางหลวงจังหวัดและชนบทในสังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย มาขึ้นกับกรมทางหลวง (กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เปลี่ยนชื่อสำนักงานโครงการเงินช่วยเหลือเงินกู้เป็นสำนักงานควบคุมโครงการเงินกู้ เนื่องจากเงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาหมดแล้ว) (ตั้งกองที่ดินและนิติกรรมและกองฝึกอบรม)
• พ.ศ. 2508 ก่อตั้งศูนย์เครื่องมือกลสงขลา
• พ.ศ. 2509 ก่อตั้งศูนย์เครื่องมือกลตากและมหาสารคาม (เริ่มทดลองใช้ดินซีเมนต์ในการทำชั้นพื้นทางของถนน)
• พ.ศ. 2510 ได้ใช้วิธีการออกแบบเสริมความหนาผิวลาดยางโดยใช้ Benkelman Beam เป็นเครื่องมือร่วมกับการใช้ CBR เป็นหลัก
• ตั้งแต่พ.ศ. 2512 กรมทางหลวงได้ฝึกข้าราชการในด้านการสู้รบและป้องกันตัวที่ค่ายฝึกรบพิเศษ บ.หนองตากู อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการสร้างทางเพื่อความมั่นคง
• พ.ศ. 2513 ก่อตั้งศูนย์เครื่องมือกลหล่มสัก (ได้ดัดแปลงการออกแบบความหนาของทางผิวลาดยางของ Asphalt Institute ในด้าน Full Depth Asphalt Pavement Structure โดยใช้ Equivalent 18,000 ปอนด์)
• พ.ศ. 2514 ก่อตั้งศูนย์เครื่องมือกลสุราษฎร์ธานี
• พ.ศ. 2515 ก่อสร้างอาคารสถานพยาบาลกรมทางหลวง ก่อตั้งกองตำรวจทางหลวง (เริ่มพัฒนาสะพานคอนกรีตอัดแรงมาใช้กับงานทางหลวง)
• วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 ย้ายกรมทางหลวงกับมาสังกัดกระทรวงคมนาคม เนื่องจากยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
• วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 เปลี่ยนชื่อจากกองทางหลวงจังหวัดและชนบทมาเป็นกองก่อสร้างทางหลวงจังหวัด
• พ.ศ. 2516 เปลี่ยนชื่อกองจัดซื้อเป็นกองการพัสดุ (แยกแผนกที่ดินและสัมปทาน สังกัดสำนักงานเลขานุการกรมเป็นกองจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน) (แยกกองการเจ้าหน้าที่ออกจากกองฝึกอบรม)
• พ.ศ. 2518 ริเริ่มก่อตั้งหน่วยงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย (กรมทางหลวงเริ่มงานประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยคอมพิวเตอร์ที่กรมตำรวจและสำนักงานสถิติแห่งชาติ)
• พ.ศ. 2521 ก่อตั้งศูนย์เครื่องมือกลกาญจนบุรี
• พ.ศ. 2522 กรมทางหลวงได้เช่าคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเพื่อใช้ในการประมวลผล
• พ.ศ. 2526 จัดตั้งคณะทำงานแผนปฏิบัติการเพื่อประมวลกฎหมายและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับงานบริหารงานบุคคล (นำเทคโนโลยีการสำรวจทางโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ)
• มกราคม พ.ศ. 2527 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้นโยบายที่จะนำ Slurry Seal มาใช้กับงาน Seal Coat และใช้ Emulsified Asphalt แทนยาง Cutback Asphalt
• กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ใช้ Cold Mixed Asphalt ไปทำการปู Overlay บนผิวทางลาดยางและเปลี่ยนแปลงการใช้ยาง AC 80/100 เป็น AC 60/70
• พ.ศ. 2529 กรมทางหลวงได้กำหนดให้ผู้ขายยางแอสฟัลต์ให้กรมทางหลวงต้องมีใบอนุญาตตั้งโรงงานยางมะตอยและต้องมีใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
• พ.ศ. 2529-2533 เพิ่มจำนวนเขตการทางจาก 12 เป็น 15 เขต (ใช้เงินกู้ธนาคารโลกปรับปรุงโครงสร้างกองฝึกอบรมและก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมที่ศรีราชา)
• พ.ศ. 2530 กรมทางหลวงได้ติดตั้งเทอร์มินอลเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เมนเฟรมกับหน่วยงานในส่วนกลาง 24 หน่วย ในส่วนภูมิภาค 12 แห่ง และที่สำนักปลัดกระทรวงคมนาคมอีก 1 แห่ง
• สิงหาคม พ.ศ. 2531 คณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของ Cold Mix ของกองวิเคราะห์วิจัยได้สรุปผลการศึกษา Cold Mix
• พ.ศ. 2533-2535 กระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น (ยกฐานะสำนักงานประมวลผลด้วยเครื่องจักรเป็นกองคอมพิวเตอร์)
• พ.ศ. 2535 กรมทางหลวงเสนอกระทรวงคมนาคมให้ใช้ผิวทางลาดยางเรียบแบบ Cape Seal ทั้งในงานผิวทางและไหล่ทาง (เริ่มนำวิธีการ Recycling เพื่อนำวัสดุสร้างทางเดิมที่มีอยู่แล้วกลับมาใช้ใหม่)
• พ.ศ. 2535-2539 สนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างของกรมทางหลวงจนเป็นโครงสร้างปัจจุบัน (มอบอำนาจและกระจายอำนาจให้ภูมิภาคมากขึ้น) (สนับสนุนกิจกรรมแม่บ้านทางหลวง)
• วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดวิธีการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางแบบผิว Cape Seal เปรียบเทียบกับผิว Double Surface Treatment ของกรมทางหลวง
• มกราคม 2537 คณะกรรมการได้สรุปผลการศึกษา Cape Seal และ Double Surface Treatment
• พ.ศ. 2537 ใช้เสาเข็มดินปูนขาวในการปรับปรุงทางสายบางนา-บางปะกงขาเข้า (เริ่มงานบำรุงทางแบบ Recycling และเสริมผิวแอสฟัลต์โดยใช้ Modified Asphalt Cement) (ได้รับความช่วยเหลือจาก UNDP เพื่อตรวจสอบประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างถนนโดยใช้ Falling Weight Deflectometer
• พ.ศ. 2538 กรมทางหลวงได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บทระบบคอมพิวเตอร์และสารสนเทศกรมทางหลวง
• พ.ศ. 2541 แต่งตั้งคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศกรมทางหลวงเพื่อปรับแผนแม่บทระบบคอมพิวเตอร์และสารสนเทศกรมทางหลวงให้เหมาะสม
• พ.ศ. 2542 เปลี่ยนระบบคอมพิวเตอร์จากเมนเฟรมมาเป็นระบบ Client Server เนื่องจากของเดิมหมดสภาพ
• พ.ศ. 2543 จ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เพื่อวิเคราะห์และออกแบบระบบสารสนเทศของกรมทางหลวง
• พ.ศ. 2544 แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งคลังสมองของกรมทางหลวงตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ (ได้รับความเห็นชอบในรายละเอียดโครงการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสื่อสารข้อมูลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมทางหลวง จากสำนักงบประมาณและจากกระทรวงการคลัง ได้แจ้งที่จะใช้เงินกู้ที่เหลือจากธนาคารพัฒนาเอเชียมาจัดซื้อจัดจ้าง

1.2 ประเภททางหลวง
1.2.1 ทางหลวงตามพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549
ความหมายของทางหลวง งานทาง ทางจราจร ทางเท้า ไหล่ทาง และยานพาหนะ ตามพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 มีดังนี้
“ทางหลวง“ หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก ไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน หรือใต้หรือเหนืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น นอกจากทางรถไฟและหมายความรวมถึงที่ดิน พืช พันธุ์ไม้ทุกชนิด สะพาน ท่อหรือรางระบายน้ำ อุโมงค์ ร่องน้ำ กำแพงกันดิน เขื่อน รั้ว หลักสำรวจ หลักเขต หลักระยะ ป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟ เครื่องแสดงสัญญาณที่จอดรถ ที่พักคนโดยสาร ที่พักริมทาง เรือหรือพาหนะสำหรับขนส่งข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นหรือลงรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีอยู่หรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงนั้นด้วย
“งานทาง” หมายความว่า กิจการใดที่ทำเพื่อหรือเนื่องในการสำรวจการก่อสร้าง การขยาย การบูรณะ หรือการบำรุงรักษาทางหลวง หรือการจราจรบนทางหลวง
“ทางจราจร” หมายความว่า ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทำหรือจัดไว้เพื่อการจราจรของยานพาหนะ
“ทางเท้า” หมายความว่า ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทำหรือจัดไว้สำหรับคนเดิน
“ไหล่ทาง” หมายความว่า ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่อยู่ติดต่อกับทางจราจรทั้งสองข้าง
“ยานพาหนะ” หมายความว่า รถตามกฎหมาย ว่าด้วยรถยนต์ รถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก รวมทั้งเครื่องจักร เครื่องกล และสิ่งอื่นใดที่เคลื่อนที่ไปได้บนทางหลวงในลักษณะเดียวกัน

ประเภททางหลวงในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
1. ทางหลวงพิเศษ (Motorways) คือ ทางหลวงที่จัดหรือทำไว้เพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษ โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา รวมทั้งควบคุมให้มีการเข้าออกได้เฉพาะ โดยทางเสริมที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษตามที่กรมทางหลวงจัดทำขึ้นไว้เท่านั้น อธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวง
2. ทางหลวงแผ่นดิน (National Highways) คือ ทางหลวงสายหลักที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ ตลอดจนสถานที่ที่สำคัญ ที่กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงแผ่นดิน อธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวง
3.ทางหลวงชนบท (Rural Roads) คือ ทางหลวงที่กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงชนบท อธิบดีกรมทางหลวงชนบทเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวงชนบท
4.ทางหลวงท้องถิ่น (Local Roads) คือ ทางหลวงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด
5. ทางหลวงสัมปทาน (Concession Highways) คือ ทางหลวงที่รัฐบาลได้ให้สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน และได้ลงทะเบียนเป็นทางหลวงสัมปทาน อธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวง

1.2.2 ระบบหมายเลขทางหลวงและมาตรฐานชั้นทางหลวงสำหรับทางหลวงทั่วประเทศ
ระบบหมายเลขทางหลวง
ในยุคสมัยเริ่มต้นของการก่อสร้างทางหลวง กรมทางหลวงนิยมใช้ชื่อหรือบุคคลที่มีความสำคัญในทางสายนั้น ๆ มาตั้งชื่อถนนหรือสะพาน เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต สะพานสารสิน เป็นต้น ต่อมาได้มีการพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศจำนวนมาก การใช้ชื่ออาจก่อให้เกิดความสับสนและไม่สามารถทราบว่าทางสายนั้นอยู่ในภาคใด ดังนั้น จึงได้มีการจัดระบบหมายเลขทางหลวงมาใช้กำกับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน โดยแต่ละหมายเลขที่ใช้กำกับทางหลวง มีความหมายดังนี้
ทางหลวงสายที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 1 แสดงว่า ทางหลวงที่มีที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ
ทางหลวงสายที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 2 แสดงว่า ทางหลวงที่มีที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทางหลวงสายที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 3 แสดงว่า ทางหลวงที่มีที่ตั้งอยู่ในภาคกลาง ตะวันออกและภาคใต้ตอนบน
ทางหลวงสายที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 4 แสดงว่า ทางหลวงที่มีที่ตั้งอยู่ในภาคใต้

1. ทางหลวงหมายเลข 1 หลัก หมายถึง ทางหลวงสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังภูมิภาคหลักของประเทศไทย ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งสามารถจำแนกย่อยได้อีกเป็น 2 กลุ่ม คือ ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงพิเศษ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.1 ทางหลวงแผ่นดิน หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายประธานเชื่อมการจราจรระหว่างภาคต่อภาค ในปัจจุบันมีอยู่ 4 สาย คือ
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) จากกรุงเทพฯ-อ.แม่สาย จ.เชียงราย (เขตแดน)
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) จากสระบุรี-หนองคาย (เขตแดน)
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) จากกรุงเทพฯ-ตราด
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) จากกรุงเทพฯ-อ.สะเดา จ.สงขลา
1.2 ทางหลวงพิเศษ กรมทางหลวงได้พิจารณากำหนดระบบหมายเลข ให้เป็นระบบหมายเลขทางหลวงใหม่ โดยมีหลักเกณฑ์ในการจัดระบบหมายเลขทางหลวงพิเศษดังนี้
ทางหลวงพิเศษหมายเลข 5 คือ โครงข่ายทางหลวงพิเศษที่เชื่อมต่อจากกรุงเทพมหานครไปยังภาคเหนือ และโครงข่ายทางหลวงพิเศษในพื้นที่ภาคเหนือ จะมีหมายเลขทางหลวงนำหน้าด้วยหมายเลข 5
ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 คือ โครงข่ายทางหลวงพิเศษที่เชื่อมต่อจากกรุงเทพมหานครไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโครงข่ายทางหลวงพิเศษในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีหมายเลขทางหลวงนำหน้าด้วยหมายเลข 6
ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 คือ โครงข่ายทางหลวงพิเศษที่เชื่อมต่อจากกรุงเทพมหานครไปยังภาคตะวันออก และโครงข่ายทางหลวงพิเศษในพื้นที่ภาคตะวันออก จะมีหมายเลขทางหลวงนำหน้าด้วยหมายเลข 7
ทางหลวงพิเศษหมายเลข 8 คือ โครงข่ายทางหลวงพิเศษที่เชื่อมต่อจากกรุงเทพมหานครไปยังภาคใต้ และโครงข่ายทางหลวงพิเศษในพื้นที่ภาคใต้ จะมีหมายเลขทางหลวงนำหน้าด้วยหมายเลข 8
ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 คือ ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และโครงข่ายทางหลวงพิเศษบริเวณรอบนอกกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีหมายเลขทางหลวงนำหน้าด้วยหมายเลข 9

ทางเชื่อมโยงจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายหลัก
ทางเชื่อมโยงจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายหลักไปสู่เส้นทางที่มีการจราจรสูงและเส้นทางที่เข้าพื้นที่สำคัญในภาคนั้น ๆ มีหลักเกณฑ์การจัดเข้าไว้ในระบบหมายเลขทางหลวงเป็นตัวเลขจำนวน 2 หลัก โดยมีหลักเกณฑ์ในการกำหนด คือ ตัวเลขหลักแรก เป็นหมายเลขของสายทางหลักนั้น ๆ และตัวเลขหลักที่สอง เป็นลำดับหมายเลขสายทางที่แยกจากทางสายหลักดังกล่าว

2. ทางหลวงหมายเลข 2 หลัก หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายประธานตามภาคต่าง ๆ ที่มีลักษณะโครงข่ายเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 1 หลัก ผ่านพื้นที่สำคัญหลายจังหวัดเชื่อมต่อกันเป็นระยะทางยาว และมีลักษณะกระจายพื้นที่ให้บริการของทางหลวงจากหมายเลข 1 หลัก ออกสู่พื้นที่ทั่วประเทศอย่างเหมาะสม เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 สายอุดรธานี-นครพนม เป็นต้น

3. ทางหลวงหมายเลข 3 หลัก หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายรองประธานที่มีลักษณะโครงข่ายเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 1 หลัก หรือ 2 หลัก เข้าสู่สถานที่สำคัญของจังหวัด หรืออาจไม่ผ่านพื้นที่สำคัญ แต่มีลักษณะเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายที่ดี สามารถกระจายพื้นที่ให้บริการทางหลวงออกสู่พื้นที่ย่อย หรือเป็นทางลักษณะขนานกับแนวชายแดนต่อเนื่องกันเป็นระยะทางยาว เพื่อเป็นการสนับสนุนภารกิจของทหารในความมั่นคงของชาติ เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 สายชัยภูมิ-เขมราฐ เป็นทางหลวงแผ่นดินสายรองประธานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314 สายบางปะกง-ฉะเชิงเทรา เป็นทางหลวงแผ่นดินสายรองประธานในภาคกลาง เป็นต้น

4. ทางหลวงหมายเลข 4 หลัก หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอ หรือสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น ในลักษณะการกระจายพื้นที่ให้บริการทางหลวงออกสู่พื้นที่ย่อย แต่ไม่ได้เชื่อมต่อเป็นโครงข่ายระยะทางยาว เช่น ทางหลวงหมายเลข 1001 สายแยกทางหลวงหมายเลข 11 (เชียงใหม่) -อ.พร้าว เป็นทางหลวงในภาคเหนือ หรือทางหลวงหมายเลข 4006 สายแยกทางหลวงหมายเลข 4 (บ.ราชกรูด)-หลังสวน เป็นทางหลวงในภาคใต้ เป็นต้น

มาตรฐานชั้นทางหลวงสำหรับทางหลวงทั่วประเทศ ดังตารางที่ 1.1

ดูรูปขยาย


1.2.3 ทางหลวงเอเชีย/อาเซียน
วัตถุประสงค์ของโครงการทางหลวงเอเชีย
เพื่อปรับปรุงและร่วมมือกันพัฒนาการขนส่งระหว่างประเทศ เมืองอุตสาหกรรม ท่าเรือ สถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งการค้าสำคัญ ๆ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวมีสมาชิก 17 ประเทศ เข้าร่วมในโครงการทางหลวงเอเชีย ประกอบด้วย อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย เวียดนาม จีน พม่า และมองโกเลีย ภายใต้การประสานงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP)) โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศจัดสรรงบประมาณสร้างทางสายนั้นภายในประเทศของตัวเอง ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
โครงข่ายทางหลวงเอเชีย (Asian Highway Network) มีระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 68,307 กิโลเมตร เชื่อมโยง 17 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จุดเริ่มต้นที่ทวีปยุโรป ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกผ่านประเทศอิหร่าน เชื่อมโยงไปยังประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ทางตะวันออก ประเทศอินโดนีเซียซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศศรีลังกา ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ สำหรับทางหลวงเอเชียดังรูปที่ 1.7
โครงข่ายทางหลวงเอเชีย เดิมใช้ระบบหมายเลขทางหลวงด้วยสัญลักษณ์ที่นำหน้าด้วยอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ “A” ตามด้วยเลขอารบิคของหมายเลขทางหลวงเอเชีย เช่น A 1, A 2 เป็นต้น ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงข่ายและสัญลักษณ์ที่ใช้เรียกชื่อโครงข่ายทางหลวงเอเชียใหม่ เป็นสัญลักษณ์ที่นำหน้าด้วยอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ “AH” ตามด้วยเลขอารบิคของหมายเลขทางหลวงเอเชีย เช่น AH 1, AH 2 เป็นต้น โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการขึ้น เมื่อประเทศไทยได้ร่วมลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยโครงข่ายทางหลวงเอเชีย เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2547 ณ นครเซี่ยงไฮ้ ในคราวประชุมคณะกรรมการธิการเอสแคป สมัยที่ 60 ซึ่งโครงข่ายทางหลวงเอเชียที่อยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวน 9 โครงข่าย ได้แก่ AH 1, AH 2, AH 3, AH 12, AH 13, AH 15, AH 16, AH 18 และ AH 19 รวมระยะทางประมาณ 5,460 กิโลเมตร
โครงข่ายทางหลวงอาเซียน (ASEAN Highway Network) ได้มีการริเริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2540 ต่อมาได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียน (Ministerial Understanding on the Development of ASEAN Highway Network Project – MU) ที่ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนได้ร่วมลงนามในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน (ASEAN Transport Minister – ATM) ครั้งที่ 5 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2542 โดยมีคณะทำงานย่อยด้านทางหลวงอาเซียนที่มีประเทศไทยโดยกรมทางหลวงเป็นประธาน จากการศึกษาพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียนมีโครงข่ายบางส่วนซ้อนทับกับโครงข่ายทางหลวงเอเชีย จึงกำหนดให้ระบบหมายเลขทางหลวงอาเซียนสอดคล้องกับระบบหมายเลขทางหลวงเอเชีย คือ ใช้คำนำหน้าด้วยอักษรภาษาอังกฤษ ตัวพิมพ์ใหญ่ “AH” ตามด้วยเลขอารบิคของหมายเลขทางหลวงอาเซียน ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมอาวุโสของอาเซียน (STOM) ครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 17-18 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีโครงข่ายทางหลวงอาเซียนที่อยู่ในประเทศไทย จำนวน 12 โครงข่าย มีแนวเส้นทางซ้อนทับกับทางหลวงเอเชีย จำนวน 9 โครงข่าย และมีแนวโครงข่ายอิสระอีก 3 โครงข่าย ได้แก่ AH 112, AH 121 และ AH 123
ดังนั้นระบบหมายเลขทางหลวงเอเชีย/อาเซียนในปัจจุบัน ใช้สัญลักษณ์ที่นำหน้าด้วยอักษรภาษาอังกฤษ ตัวพิมพ์ใหญ่ “AH” ตามด้วยเลขอารบิคของหมายเลขทางหลวงเอเชีย/อาเซียน ในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 12 โครงข่าย โครงข่ายหมายเลข “AH” ตามด้วยเลขอารบิค 1 หลัก และ 2 หลัก จำนวน 9 โครงข่าย มีสถานะเป็นทางหลวงเอเชียและอาเซียน รวมระยะทางยาวประมาณ 5,460 กิโลเมตร โครงข่ายหมายเลข “AH” ตามด้วยเลขอารบิค 3 หลัก จำนวน 3 โครงข่าย มีสถานะเป็นทางหลวงอาเซียน รวมระยะทางยาวประมาณ 1,240 กิโลเมตร
ระบบหมายเลขทางหลวงเอเชีย/อาเซียน ที่ผ่านประเทศไทยประกอบด้วย 12 โครงข่าย คือ
AH 1 : บ.คลองลึก (ชายแดนไทย/กัมพูชา) - อ.อรัญประเทศ - สระแก้ว - อ.กบินทร์บุรี - ปราจีนบุรี - นครนายก - บ.หินกอง - กรุงเทพ - อ่างทอง - สิงห์บุรี - ชัยนาท - นครสวรรค์ - กำแพงเพชร - ตาก - อ.แม่สอด (ชายแดนไทย/พม่า) รวมระยะทาง 701.0 กิโลเมตร
AH 2 : อ.สะเดา (ชายแดนไทย/มาเลเซีย) - บ.คลองแงะ - บ.คอหงษ์ - บ.คูหา - พัทลุง - อ.ทุ่งสง - อ.เวียงสระ - อ.ไชยา - อ.ละแม - ชุมพร - อ.ท่าแซะ - อ.บางสะพานน้อย - ประจวบคีรีขันธ์ - อ.ปราณบุรี - อ.ชะอำ - เพชรบุรี - อ.ปากท่อ - นครปฐม - กรุงเทพ - อ.บางปะอิน - ตาก - อ.เถิน - ลำปาง -อ.งาว - พะเยา - เชียงราย – อ.แม่สาย (ชายแดนไทย/พม่า) รวมระยะทาง 1,913.0 กิโลเมตร
AH 3 : อ.เชียงของ (ชายแดนไทย/ลาว) - บ.ต้าตลาด - บ.หัวดอย - เชียงราย รวมระยะทาง 116.5 กิโลเมตร
AH 12 : สะพานมิตรภาพไทย/ลาว - หนองคาย - อุดรธานี - อ.น้ำพอง - ขอนแก่น - อ.บ้านไผ่ - อ.พล - นครราชสีมา - อ.สีคิ้ว - อ.มวกเหล็ก - สระบุรี - บ.หินกอง รวมระยะทาง 511.5 กิโลเมตร
AH 13 : ห้วยโก๋น (ชายแดนไทย/ลาว) - น่าน - แพร่ - อ.เด่นชัย - อุตรดิตถ์ - พิษณุโลก - อ.สามง่าม - นครสวรรค์ รวมระยะทาง 557.0 กิโลเมตร
AH 15 : นครพนม (ชายแดนไทย/ลาว) - บ.ธาตุนาเวง (สกลนคร) - อ.พังโคน - อ.สว่างแดนดิน - อุดรธานีรวมระยะทาง 242.5 กิโลเมตร
AH 16 : มุกดาหาร (ชายแดนไทย/ลาว) - อ.หนองสูง - อ.สมเด็จ - กาฬสินธุ์ - อ.ยางตลาด - ขอนแก่น - อ.น้ำหนาว - อ.หล่มสัก - บ.แยง - อ.วังทอง - พิษณุโลก - สุโขทัย - ตาก รวมระยะทาง 688.5 กิโลเมตร
AH 18 : อ.สุไหงโกลก (ชายแดนไทย/มาเลเซีย) - อ.ตากใบ - นราธิวาส - อ.สายบุรี - อ.ปาลัส - ปัตตานี - อ.หนองจิก - อ.เทพา - อ.จะนะ - อ.หาดใหญ่ รวมระยะทาง 268.0 กิโลเมตร
AH 19 : อ.ปักธงชัย - อ.กบินทร์บุรี - อ.แปลงยาว - ชลบุรี - กรุงเทพ รวมระยะทาง 459.5 กิโลเมตร
AH 112 : บ.คลองลอย - อ.บางสะพาน รวมระยะทาง 29.0 กิโลเมตร
AH 121 : มุกดาหาร - อำนาจเจริญ - ยโสธร - อ.สุวรรณภูมิ - อ.พยัคฆภูมิพิสัย - บุรีรัมย์ - อ.นางรอง - บ.ส้มป่อย - ช่องตะโก รวมระยะทาง 458.5 กิโลเมตร
AH 123 : บ.น้ำพุร้อน (ชายแดนไทย/พม่า) - กาญจนบุรี - นครปฐม - กรุงเทพ - สมุทรปราการ - ชลบุรี - แหลมฉบัง - มาบตาพุด - ระยอง - อ.แกลง - จันทบุรี - ตราด - บ.หาดเล็ก รวมระยะทาง 747.5 กิโลเมตร


รูปที่ 1.7 โครงข่ายทางหลวงเอเชีย
ที่มา : www.doh.go.th (2552)


โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียน (ASEAN Highway Network Development Project)
โครงการพัฒนาทางหลวงอาเซียนเป็นโครงการที่กรมทางหลวงได้เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งจากการประชุมรัฐมนตรีขนส่ง (ASEAN Transport Minister-ATM) ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ที่ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของฝ่ายไทยว่า ควรให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาและเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงของประเทศสมาชิก กระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้กรมทางหลวงจัดทำรายงานเพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียน เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีขนส่งของอาเซียน (ATM) ครั้งที่ 3 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2540 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการของโครงการพัฒนาทางหลวงอาเซียนดังกล่าว และให้จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านทางหลวงอาเซียน โดยมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานหลักในการดำเนินงานโครงการนี้
การดำเนินงานของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านทางหลวงอาเซียนในระหว่างพ.ศ. 2541-2542 โดยผ่านการประชุม 4 ครั้ง ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย เวียดนาม บรูไนและเวียดนาม ตามลำดับ ได้ผลสรุปเรื่องขอบข่ายในการดำเนินงานและร่วมมือกันพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียน โดยในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน (ATM) ครั้งที่ 5 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2542 ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาโครงการทางหลวงอาเซียน (Ministerial of Understanding on the Development of ASEAN Highway Network Project-MU) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
ลักษณะโครงข่ายทางหลวงอาเซียน
โครงข่ายทางหลวงอาเซียนที่กำหนดเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงการเดินทางติดต่อระหว่างพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพสูงของประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าด้วยกัน มีจำนวนทั้งสิ้น 23 สายทาง
มาตรฐานทางหลวงอาเซียน
กำหนดให้ทางหลวงอาเซียนมี 4 มาตรฐาน ดังนี้
ประเภท (Standard)   ลักษณะสำคัญ (Main Feature)
ชั้นพิเศษ (Primary)   ทางด่วนที่ควบคุมทางเข้า-ออกสมบูรณ์แบบ
ชั้น 1 (Class I)   ถนนลาดยางหรือคอนกรีต 4 ช่องจราจร
ชั้น 2 (Class II)   ถนนลาดยางหรือคอนกรีต 2 ช่องจราจร ผิวทางกว้าง 7 เมตร
ชั้น 3 (Class III)   ถนนลาดยาง 2 ช่องจราจร ผิวทางกว้าง 6 เมตร

ตารางที่ 1.2 มาตรฐานชั้นทางสำหรับทางหลวงอาเซียน

ดูรูปขยาย


หมายเหตุ :
1. ความหมายของสัญลักษณ์ ( ) = นอกเมือง (( )) = ในเมือง
2. [ ] = ค่าที่เหมาะ แนะนำให้ใช้
3. ความกว้างเขตทาง ความกว้างช่องจราจร ความกว้างไหล่ทาง และอัตราการยกโค้งราบสูงสุด ในกรณีที่ต้องผ่านพื้นที่เขตเมืองหรือเมืองหลวง สามารถที่จะใช้มาตรฐานออกแบบของแต่ละประเทศตัวเองได้ถ้าจำเป็น
ที่มา : กรมทางหลวง ศูนย์ประชาสัมพันธ์ (2545)

1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการทางหลวงอาเซียน
กำหนดเป้าหมายการพัฒนาทางหลวงอาเซียนเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2543) กำหนดโครงข่ายทางหลวงอาเซียนและเส้นทางที่กำหนดให้เป็นเส้นทางขนส่งผ่านแดนระหว่างประเทศให้แล้วเสร็จ
ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2547) ทางหลวงที่กำหนดเป็นเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศจะได้รับการปรับปรุงอย่างน้อยเป็นถนนมาตรฐานชั้น 3 พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องหมายจราจรบนเส้นทางเหล่านั้นแล้วเสร็จ มีการก่อสร้างถนนช่วงที่ขาดตอนและเปิดดำเนินการจุดผ่านแดนทั้งหมด
ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2563) ทางหลวงที่กำหนดเป็นเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศจะได้รับการปรับปรุงเป็นถนนมาตรฐานชั้น 1 หรือชั้นพิเศษ แต่สำหรับเส้นทางที่มีปริมาณการจราจรต่ำและไม่เป็นโครงข่ายหลัก ยินยอมให้ก่อสร้างเป็นถนนมาตรฐานชั้น 2
2. จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางหลวงอาเซียน
กำหนดให้จัดทำแผนพัฒนาทางหลวงอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางหลวงสายหลักที่ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศที่มีความสำคัญลำดับสูง สำหรับแสวงหาการสนับสนุนด้านเงินลงทุนจากองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา (Official Development Assistance-ODA) หรือจากภาคเอกชน หรือจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน

โครงการพัฒนาทางหลวงระหว่างประเทศ
บทบาทของกรมทางหลวงในปัจจุบันนี้ นอกจากการพัฒนาเส้นทางในประเทศไทยแล้ว ยังมีการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาถนนเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายระหว่างประเทศภายใต้ความร่วมมือต่าง ๆ ดังนี้
1. กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Cooperation) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank–ADB) ได้ทำการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และประเทศจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) ในส่วนของการพัฒนาด้านคมนาคมทางบกเกี่ยวกับทางหลวง ADB ได้กำหนดรวมทั้งสิ้น 10 สายทาง อย่างไรก็ตาม ในจำนวนเส้นทางเหล่านี้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง 4 เส้นทาง คือ
เส้นทาง R1 โครงข่ายถนนเชื่อมโยงกรุงเทพฯ-พนมเปญ-โฮจิมินต์ซิตี้-วังเตา
เส้นทาง R2 โครงข่ายถนนเชื่อมโยงแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) พม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม
เส้นทาง R3 โครงข่ายถนนเชื่อมโยงเชียงราย-คุนหมิง-ลาว-พม่า มี 2 สายทาง คือ เส้นทาง R3A ไทย-ลาว-จีน และเส้นทาง R3B ไทย-พม่า-จีน
เส้นทาง R10 โครงข่ายถนนเลียบชายฝั่งทะเล ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม
2. โครงการเส้นทางคมนาคมภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่น้ำโขง (Ayeyawady-Cho Praya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งมีประเทศสมาชิก คือ พม่า ไทย กัมพูชา และ ลาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจร่วมกัน
3. กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand-Growth Triangle: IMT-GT)

จากโครงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในการก่อสร้างโครงข่ายถนนเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ของอนุภูมิภาคนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประเทศไทยมีบทบาทในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก ซึ่งจะช่วยพลิกโฉมของระบบการขนส่งที่เดิมแต่ละประเทศจะจำกัดบทบาทอยู่ในประเทศของตนเอง แต่จากกระแสยุคโลกาภิวัตน์นี้การรวมกลุ่มในลักษณะของภูมิภาคนิยมกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยสร้างอำนาจต่อรองกับภูมิภาคอื่น ๆ ของสังคมโลก ซึ่งก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเข้าใจซึ่งกันและกัน ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โครงการพัฒนาทางหลวงภายในประเทศ
การพัฒนาระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
จากผลการศึกษาการพัฒนาทางหลวงในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งกรมทางหลวงได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในปีพ.ศ. 2532 พบว่า ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การพัฒนาระบบเส้นทางคมนาคมยังไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร ยังขาดระบบทางหลวงที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างเมืองต่าง ๆ ให้สามารถติดต่อถึงกันในเวลาที่รวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญได้เสนอแนะว่า หากประเทศไทยจะพัฒนาประเทศเข้าสู่ศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาคนี้แล้ว จำเป็นที่จะต้องริเริ่มการพัฒนาทางหลวงอีกประเภทหนึ่ง ที่สามารถใช้งานได้ในลักษณะที่พิเศษจากทางหลวงปกติทั่วไป นั่นคือ การพัฒนาระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Inter-City Motor)

ลักษณะเด่นของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง มีดังนี้
1. เป็นแนวทางใหม่ที่หลีกเลี่ยงชุมชนมากที่สุด
2. มีการควบคุมทางเข้า-ออกที่สมบูรณ์แบบ มีรั้วกั้นเขตทาง ยานพาหนะสามารถใช้ความเร็วได้ตามที่ออกแบบ ไม่มีอุปสรรครบกวนจากการที่คนหรือสัตว์วิ่งตัดหน้า
3. บริเวณทางแยกต้องเป็นทางแยกต่างระดับ ไม่มีสัญญาณไฟจราจร
4. เป็นทางหลวงที่มีมาตรฐานสูงกว่าถนนธรรมดา ยานพาหนะวิ่งได้ด้วยความเร็ว 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
5. มีสถานีบริการ (Service Area) ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ห้องสุขา เป็นต้น ไว้ให้บริการแก่ผู้ใช้ทางตามจุดที่กำหนดไว้ในเขตทาง

ประโยชน์ของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
1. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ การที่ยานพาหนะสามารถใช้ความเร็วได้คงที่โดยไม่ลดและเพิ่มความเร็วบ่อยครั้ง จะทำให้ลดอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษา
2. ประหยัดเวลาในการเดินทาง รถสามารถใช้ความเร็วได้สูงเนื่องจากไม่มีอุปสรรคจากการที่คนหรือสัตว์วิ่งตัดหน้าและแนวทางห่างชุมชน รั้วกั้นปราศจากการรบกวนที่ต้องชะลอความเร็ว
3. ลดอุบัติเหตุ การที่มีรั้วกั้นตลอดแนวทางทำให้ลดอุบัติเหตุได้อย่างมาก อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นความสูญเสียที่มากมายของการเดินทางบนทางหลวงในประเทศไทยปัจจุบัน
4. ส่งเสริมการกระจายการพัฒนาไปยังภูมิภาค การที่มีโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถกระจายการพัฒนาไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมาแออัดอยู่ในเฉพาะเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถกำหนดระยะเวลาของการเดินทางจากแหล่งผลิตไปยังแหล่งบริโภคได้อย่างแน่นอน

1.3 การจัดระบบงานทางหลวง
1.3.1 การจำแนกประเภทของถนนตามหลักวิศวกรรมจราจร
เพื่อให้การวางแผนการจัดการตลอดจนการบริหารและการให้บริการทางด้านการขนส่งเป็นไปอย่างมีระเบียบ เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งผู้ใช้ถนนและฝ่ายเจ้าหน้าที่ จึงต้องมีการจำแนกถนนออกเป็นประเภทตามคุณสมบัติหน้าที่และความสำคัญของถนนแต่ละสาย หรือตามลักษณะการใช้งาน (Function System of Classification) คือ ต้องให้บริการด้านการเดินทางอย่างรวดเร็วและให้ประโยชน์ในการเข้าถึงบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากที่สุด
โดยปกติวิธีการจำแนกประเภทของถนนมีหลายวิธี ถ้าจำแนกตามหลักวิศวกรรมจราจรโดยทั่วไปจะแบ่งถนนออกเป็น 4 ประเภท ดังรูปที่ 1.8, 1.9 และ 1.10 คือ
1. ระบบทางด่วน (Expressway or Freeway System) เป็นถนนที่สร้างขึ้นเพื่อไม่ให้มีการจราจรที่ติดขัดเกิดขึ้นในบริเวณเมืองลักษณะการจราจรผ่านตลอด (Through Traffic) สามารถรับปริมาณการจราจรได้สูง มีการควบคุมทางเข้า-ออกอย่างเข้มงวด สามารถใช้ความเร็วสูงได้โดยไม่ติดขัด ไม่อนุญาตให้คนหรือสัตว์และยานพาหนะบางชนิดมาใช้ถนน ไม่มีทางแยกตัดขวาง ถ้าจำเป็นต้องมีการสร้างเป็นทางแยกต่างระดับ
2. ถนนสายประธาน (Major or Arterial Street) เป็นถนนที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการสัญจรไปมาของการจราจรระหว่างเมืองที่จัดว่าสำคัญมาก มีคุณภาพสูง และอาจจะมีการควบคุมการเข้า-ออกในบางกรณี
3. ถนนสายรอง (Collector Road) เป็นถนนที่ทำหน้าที่ระบายการจราจรจากถนนสายประธาน โดยเป็นทางเชื่อมระหว่างถนนสายประธานและถนนท้องถิ่น จากถนนท้องถิ่นนี้ผู้ขับขี่ยานพาหนะสามารถเดินทางไปได้ทุกจุดของพื้นที่ ขนาดและคุณภาพของถนนประเภทนี้จะด้อยกว่าถนนสองประเภทแรก
4. ถนนท้องถิ่น (Local Road) เป็นถนนที่สร้างขึ้นเพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้โดยทั่วและให้ความสะดวกในการสัญจรในพื้นที่นั้นได้อย่างดี


รูปที่ 1.8 ถนนประเภทต่าง ๆ จำแนกตามหลักวิศวกรรมจราจร
ที่มา : วิโรจน์ รุโจปการ (2532)


รูปที่ 1.9 ถนนประเภทต่าง ๆ บริเวณชานเมือง (Sub-urban Street)
ที่มา : Papacostas, C.S., and Prevedouros, P.D. (1993)


รูปที่ 1.10 ถนนประเภทต่าง ๆ บริเวณชนบท (Rural Highway)
ที่มา : Papacostas, C.S., and Prevedouros, P.D. (1993)


อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในรูปที่ 1.11 จะเห็นได้ว่า ถนนที่ออกแบบมีคุณภาพสูงจะทำให้ยานพาหนะเคลื่อนที่ไปได้อย่างรวดเร็ว อัตราการเคลื่อนที่สูง แต่การเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ต่ำ ในทางกลับกันการสร้างถนนเพื่อเข้าถึงพื้นที่ได้มาก ความเร็วและอัตราการเคลื่อนที่ก็จะต่ำด้วย


รูปที่ 1.11 ความสัมพันธ์ของระบบทางต่าง ๆ ในการเคลื่อนที่และการเข้าถึงพื้นที่
ที่มา : Khisty, C. Jotin, and Lall, B. Kent (1998)


1.3.2 โครงข่ายถนน
โครงข่ายถนนเกิดจากสองส่วน คือ เส้นทางของถนนกับทางร่วมทางแยก (Road Link and Intersections) ประกอบกันเป็นโครงข่ายที่มีรูปแบบลักษณะต่าง ๆ กัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากแบบของเมืองและการใช้ที่ดินภายในตัวเมือง รูปแบบของ
โครงข่ายถนนในทางทฤษฎี เช่น แบบเส้นตรง (Linear Network) แบบตาราง (Grid Network) แบบรัศมีออกจากศูนย์กลาง (Ring-Radial Network) เป็นต้น

โครงข่ายถนนในเมือง (Urban Road Pattern) จัดแบ่งเป็น 3 แบบ คือ (ดังรูปที่ 1.12)
1. ถนนแบบเส้นตรง (Linear Network) เหมาะกับบริเวณที่เป็นภูเขา หุบเขา เนินเขา มีพื้นที่จำกัดมักจะเป็นเส้นตรงผ่านชุมชน ความเจริญของเมืองจะขยายเป็นเส้นตรงมีอาคารตั้งอยู่สองฟากของถนนสายหลักและจะมีถนนสายย่อยแยกออกมาจากถนนสายหลัก ดังรูปที่ 1.12 (ก) ถนนลักษณะนี้จะมีปัญหาการติดขัดของการจราจรเมื่อตัวเมืองขยายตัวขึ้น เพราะจะต้องรองรับการจราจรภายในชุมชนและการจราจรจากภายนอกซึ่งผ่านเมืองไปยังจุดหมายปลายทาง
2. ถนนแบบตาราง (Grid Network) ประกอบด้วยถนนตามแนวยาวและตามแนวขวางตัดตั้งฉากซึ่งกันและกัน ถนนแต่ละสายอยู่ห่างและกว้างเท่า ๆ กันด้วย ถนนหรือทางแบบนี้ได้เกิดขึ้นมานานแล้วในสมัยโรมัน 450 ปีก่อนคริสต์ศักราชและแพร่หลายมากอีกครั้งในสหรัฐอเมริกา โครงข่ายถนนแบบนี้ ดังรูปที่ 1.12 (ข) มีข้อดีและข้อเสียดังนี้
ก. ข้อดี
• มีความสม่ำเสมอในการเข้าถึงของส่วนต่าง ๆ ของเมืองดีเท่ากัน
• ช่วยกระจายความเจริญไปทั่วถึงกัน ทำให้ความหนาแน่นของประชากรกระจายออกสม่ำเสมอ
• ในแง่ของการขนส่งจะช่วยให้ความต้องการการขนส่งกระจายออกไปไม่จำกัดอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งซึ่งจะสะดวกต่อการบริการ
• ง่ายต่อการออกแบบวางแนวถนนและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ อีกทั้งยังขยายเมืองออกได้ทุกด้านไม่จำกัด
• สามารถเพิ่มความจุของโครงข่ายถนนได้โดยง่าย เพียงแต่จับถนนคู่ใดคู่หนึ่งที่อยู่ขนานกันจัดเป็นระบบรถวิ่งทางเดียว
ข. ข้อเสีย
• ไม่เหมาะสำหรับลักษณะภูมิประเทศที่มีพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ การทำระบบตารางจะเสียค่าใช้จ่ายสูง
• การวางระบบตารางลงบนพื้นที่เนินเขา เช่น เมืองของกรีกตั้งอยู่ทำให้ถนนหลายตอนชันมากจนต้องปรับความลาดชันของถนนโดยทำเป็นขั้นบันได
• ถนนในโครงข่ายแบบนี้ไม่มีการแยกว่าทางไหนเป็นทางเอกหรือทางโท
• ไม่สะดวกสำหรับการจราจรที่มีจุดเริ่มต้น (Origin) และจุดหมายปลายทาง (Destination) ในแนวเส้นทแยงมุมเพราะจะต้องเดินทางยาวขึ้น
• มีทางร่วมทางแยกมากเกินไป
• ผู้ใช้รถเกิดความเบื่อหน่าย ซ้ำซาก
3. ถนนแบบรัศมีออกจากศูนย์กลาง (Radial Network) เป็นถนนแยกออกจากใจกลางเมืองไปยังชานเมืองโดยรอบและมีถนนวงแหวนเชื่อมต่อระหว่างถนนรัศมีเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่ 1 ถึง 3 ชั้น ลักษณะคล้ายใยแมงมุม เมืองที่มีประชากรตั้งแต่ 20,000 คนขึ้นไป ควรมีถนนวงแหวน 1 วง เมืองที่มีประชากรตั้งแต่ 500,000 คนขึ้นไป ควรจะมีถนนวงแหวน 2 วง ลักษณะของถนนวงแหวนไม่จำเป็นจะต้องเป็นวงกลม สามารถเลือกวางแนวได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่และภูมิประเทศวกอ้อมจนครบรอบหรือเกือบครบรอบ เพื่อให้การจราจรสามารถเคลื่อนที่เข้าสู่หรือระบายออกจากเมืองได้รวดเร็ว แม้จะใช้ระยะทางมากขึ้นแต่การจราจรจะไม่ติดขัด เพราะมีการจัดระบบควบคุมการเข้าออก (Control of Access) ดังรูปที่ 1.12 (ค)


รูปที่ 1.12 โครงข่ายถนนในเมือง
(ก) ถนนแบบเส้นตรง
(ข) ถนนแบบตาราง
(ค) ถนนแบบรัศมีออกจากศูนย์กลาง
ที่มา : จิรพัฒน์ โชติกไกร (2531)


ถนนวงแหวนในกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครก็เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2531 มีประชากรตามการสำรวจสำมะโนครัว จำนวน 6 ล้านคน ประสบกับปัญหาการจราจรติดขัดมาก เนื่องจากจำนวนรถยนต์มีมากกว่าความจุของถนนและปริมาณรถก็เพิ่มมากขึ้นทุกปี รัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาโดยการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยก่อสร้างทางด่วน เพื่อลดการจราจรติดขัดในย่านการค้าและระบายรถยนต์จากภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ที่ไม่มีธุรกิจการค้าสามารถเดินทางไปได้โดยตรง นอกจากนี้กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลยังมีแนวถนนวงแหวน 2 วง คือ
1. ถนนวงแหวนรอบใน อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีชื่อว่า ถนนรัชดาภิเษก เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จุดเริ่มต้นตรงสามแยกท่าพระแนวเส้นทางผ่านถนนตากสิน สะพานกรุงเทพ ถนนเจริญกรุง ถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนนางลิ้นจี่ ถนนคลองเตย ถนนพระราม 4 ถนนสุขุมวิท เข้าซอยอโศกออกถนนลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนประชาชื่น ถนนประชาราษฎร์ ถนนวงศ์สว่าง สะพานพระราม 6 และถนนจรัญสนิทวงศ์ มีความยาวโดยรอบประมาณ 50 กิโลเมตร โดยใช้ถนนเดิม 15 กิโลเมตร และก่อสร้างถนนใหม่อีก 35 กิโลเมตร ดังรูปที่ 1.13
2. ถนนวงแหวนรอบนอก อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง เดิมคือทางหลวงหมายเลข 340 ปัจจุบันคือทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ลักษณะของทางหลวงประเภทนี้มีการควบคุมทางเข้า-ออกแบบสมบูรณ์ ตรงทางแยกเป็นทางแยกต่างระดับและบางช่วงมีทางขนาน โดยมีรั้วกั้นตลอดช่องทางด่วน มีเป้าหมายคือ เชื่อมการคมนาคมจากด้านตะวันตกของกรุงเทพฯไปบรรจบทางหลวงด้านตะวันออก ด้านเหนือและด้านใต้ให้เป็นไปด้วยความสะดวก จุดเริ่มต้นของถนนสายนี้เริ่มที่อำเภอบางบัวทองไปตลิ่งชันผ่านนครชัยศรี เพชรเกษม บางขุนเทียน วกข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านสมุทรปราการ บางพลี ลาดกระบัง และไปบรรจบถนนพหลโยธินตรงบางปะอิน จากบางปะอินวกกลับไปทางปทุมธานีและบรรจบที่จุดเริ่มต้นที่อำเภอบางบัวทอง ดังรูปที่ 1.13
• ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 71 กิโลเมตร
• ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก ระยะทาง 63 กิโลเมตร
• ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านใต้ ระยะทาง 34 กิโลเมตร

โครงข่ายถนนนอกเมือง (Rural Road Pattern)
เป็นลักษณะของถนนสายหลักที่เชื่อมกันระหว่างเมืองกับเมืองโดยผ่านเข้าไปยังศูนย์กลางของเมือง เมื่อตัวเมืองมีการขยายจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือ การจราจรในใจกลางเมืองจะติดขัด ดังนั้น ในเมืองที่มีประชากรประมาณ 300,000 ขึ้นไป ควรจะมีการก่อสร้างโดยสร้างถนนเลี่ยงเมือง (By Pass) หรือถ้าเป็นเมืองที่มีขนาดเล็กตั้งอยู่ระหว่างเมืองใหญ่สองเมืองก็จำเป็นต้องมีถนนเลี่ยงเมืองเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจราจรติดขัดระหว่างเมืองใหญ่เข้าไปก่อปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองเล็ก


รูปที่ 1.13 แผนที่โครงข่ายทางหลวงวงแหวนรอบในและรอบนอกของกรุงเทพฯ
ที่มา : จิรพัฒน์ โชติกไกร (2531)


1.3.3 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานทาง
องค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานทางภายในประเทศ มีดังนี้
1. กรมทางหลวง (Department of Highways) สังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ ควบคุมและดำเนินการก่อสร้าง บูรณะและบำรุงรักษา ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงสัมปทานทั่วราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในด้านการคมนาคม การเศรษฐกิจ การศึกษา การปกครองและป้องกันประเทศ โดยกรมทางหลวงมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานสำรวจ ออกแบบ งานก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษาทางหลวงเหล่านี้ เพื่อเชื่อมต่อจุดสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการทหาร โดยคำนึงถึงผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติตามมาตรฐานที่เหมาะสมกับปริมาณการจราจรของแต่ละท้องถิ่นในทุกภาคทั่วประเทศ ตลอดจนอำนวยความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางหลวงและควบคุมการใช้ทางหลวงให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับทางหลวง
2. กรมทางหลวงชนบท (Department of Rural Roads) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 (โดยการรวมงานก่อสร้างของกรมโยธาธิการและสำนักเร่งรัดพัฒนาชนบทเข้าด้วยกัน แล้วจัดตั้งเป็นกรมทางหลวงชนบท) เป็นองค์กรหลักทางวิศวกรรมงานทาง ที่มุ่งพัฒนาทางหลวงสายรองและทางหลวงชนบทของประเทศ ให้มีโครงข่ายเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ด้วยคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน มีความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางอย่างเพียงพอและยั่งยืน
3. กรุงเทพมหานคร (Department of Public Works Bangkok Metropolitan) มีหน้าที่ ออกแบบและก่อสร้างถนนในกรุงเทพมหานคร ถนนส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีต
4. หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) ในอดีตคือ กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) มีหน้าที่ ก่อสร้างถนนในท้องถิ่นทุรกันดาร ขีดความสามารถในการสร้างเส้นทางคมนาคมของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้ทวีความก้าวหน้าทันสมัยขึ้นมาเป็นลำดับ จากถนนลูกรังบดอัดแน่น (ชั้นทาง F6) ในอดีต จนมาเป็นถนนลาดยาง (ชั้นทาง F4 ) ในปัจจุบัน นับหมื่นกิโลเมตรที่ตัดผ่านป่าทึบ ยอดดอยสูงชัน หรือแม้หุบเหวลึกล้ำ ล้วนเป็นผลงานที่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เกิดความภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้เห็นรถของพี่น้องประชาชน ขนพืชผักผลไม้วิ่งไปบนถนนและสะพานที่หน่วยงานตั้งใจสร้างขึ้นและมอบให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของส่วนราชการในท้องถิ่น
5. กรมชลประทาน (Royal Irrigation Department) มีหน้าที่ ก่อสร้างทางเข้าหัวงาน (สถานที่เริ่มต้นทำงาน) และปรับปรุงคันคลอง หรือคันกั้นน้ำให้เป็นถนนเพื่อกิจการชลประทาน
6. เทศบาล (Municipal) มีหน้าที่ก่อสร้างบูรณะและบำรุงทางหลวงในเขตเทศบาล
7. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (Expressway Authority of Thailand) เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 และต่อมาได้มีการปรับปรุงกฎหมายโดยการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2551 ปัจจุบันนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการภายในกรอบแห่งวัตถุประสงค์ในสาระสำคัญ คือ สร้างหรือจัดให้มีทางพิเศษด้วยวิธีใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ ดำเนินงานหรือธุรกิจเกี่ยวกับทางพิเศษและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับทางพิเศษหรือที่เป็นประโยชน์แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ “ทางพิเศษ” มีคำจำกัดความตามกฎหมายว่า หมายถึง ทางหรือถนนซึ่งจัดสร้างขึ้น หรือได้รับโอนหรือได้รับมอบไม่ว่าจะจัดสร้างในระดับพื้นดิน เหนือหรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรเป็นพิเศษ และให้หมายความรวมถึงสะพาน อุโมงค์ เรือสำหรับขนส่งรถข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นลงรถทางเท้า ที่จอดรถ เขตทาง ไหล่ทาง เขื่อนกั้นน้ำ ท่อหรือทางระบายน้ำ กำแพงกันดิน รั้วเขต หลักระยะ สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจร อาคาร หรือ สิ่งอื่นใดที่จัดไว้ในเขตทางเพื่ออำนวยความสะดวก หรือเพื่อความปลอดภัยเกี่ยวกับงานทางพิเศษ

องค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานทางในต่างประเทศ มีดังนี้
1. American Association of State Highway and Transportation Officials (AASHTO) เป็นองค์กรทางราชการของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการทดสอบวัสดุการทาง และมาตรฐานการออกแบบทางในสหรัฐอเมริกาพร้อมทั้งศึกษาวิจัยในงานทางด้วย มีวารสารที่พิมพ์ออกมาเผยแพร่ คือ Highway Materials Specifications and Tests, Specifications for Highway Bridge, A Policy on Geometric Design for Rural Highways, A Policy on Design of Urban Highways and Arterial Streets, A Policy on Geometric Design for Highways and Streets
2. Transportation Research Board (TRB) ได้จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1920 ภายใต้ชื่อ Highway Research Board (HRB) ต่อมาในปี ค.ศ.1973 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Transportation Research Board เป็นองค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางวิชาการ จัดสัมมนา ประชุมหรือเกี่ยวข้องในงานวิจัยและอื่น ๆ ในสาขาขนส่ง สิ่งพิมพ์มีอยู่หลายรูปแบบ เช่น National Cooperative Highway Research Programs (NCHRP), Transport Research Record (TRR)
3. Transport and Road Research Laboratory (TRRL) เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านงานทางของอังกฤษ ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1933 ภายใต้ชื่อ Road Research Laboratory (RRL) กิจกรรมของหน่วยงานนี้ครอบคลุมงานถนนและงานขนส่ง เช่น Transport System, Transport Operations, Safety, Traffic Engineering, Structures, Highways, Overseas Unit เป็นต้น วารสารที่พิมพ์เผยแพร่ทั่วไปคือ TRRL Record
4. Institute of Transportation Engineers (ITE) เป็นสถาบันที่มีสมาชิกเป็นผู้ประกอบวิชาชีพในทางการจัดการเกี่ยวกับยวดยานและการขนส่งสาธารณะ ทำหน้าที่ จัดพิมพ์หนังสือและพัฒนามาตรฐานเกี่ยวกับเครื่องมือควบคุมการจราจร

1.3.4 คำจำกัดความทางวิศวกรรม
คำจำกัดความตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
“การจราจร” หมายความว่า การใช้ทางของผู้ขับขี่ คนเดินเท้า หรือ คนที่จูง ขี่ หรือไล่ต้อนสัตว์
“ทาง” หมายความว่า ทางเดินรถ ช่องเดินรถ ช่องเดินรถประจำทาง ไหล่ทาง ทางเท้า ทางข้าม ทางร่วมทางแยก ทางลาด ทางโค้ง สะพาน และลานที่ประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางส่วนบุคคลที่เจ้าของยินยอมให้ประชาชนใช้ในการจราจรหรือที่เจ้าพนักงานจราจรได้ประกาศให้เป็นทางตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย แต่ไม่รวมไปถึงทางรถไฟ
“ทางเดินรถ” หมายความว่า พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับการเดินรถไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน
“ช่องเดินรถ” หมายความว่า ทางเดินรถที่จัดแบ่งเป็นช่องสำหรับการเดินรถ โดยทำเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนวแบ่งเป็นช่องไว้
“ช่องเดินรถประจำทาง” หมายความว่า ช่องเดินรถที่กำหนดให้เป็นช่องเดินรถสำหรับรถโดยสารประจำทางหรือรถบรรทุกคนโดยสารประเภทที่อธิบดีกำหนด
“ทางเดินรถทางเดียว” หมายความว่า ทางเดินรถใดที่กำหนดให้ผู้ขับรถขับไปในทิศทางเดียวกันตามเวลาที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด
“ขอบทาง” หมายความว่า แนวริมของทางเดินรถ
“ไหล่ทาง” หมายความว่า พื้นที่ที่ต่อจากขอบทางออกไปทางด้านข้างซึ่งยังมิได้จัดทำเป็นทางเท้า
“ทางร่วมทางแยก” หมายความว่า พื้นที่ที่ทางเดินรถตั้งแต่สองสายตัดผ่านกัน รวมบรรจบกัน หรือตัดกัน
“วงเวียน” หมายความว่า ทางเดินรถที่กำหนดให้รถเดินรอบเครื่องหมายจราจรหรือสิ่งที่สร้างขึ้นในทางร่วมทางแยก
“ทางเท้า” หมายความว่า พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับคนเดินซึ่งอยู่ข้างใดข้างหนึ่งของทาง หรือทั้งสองข้างของทาง หรือส่วนที่อยู่ชิดขอบทางซึ่งใช้เป็นที่สำหรับคนเดิน
“ทางข้าม” หมายความว่า พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดินเท้าข้ามทางโดยทำเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนวหรือตอกหมุดไว้บนทาง และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่ทำให้คนเดินเท้าข้ามไม่ว่าในระดับใต้หรือเหนือพื้นดินด้วย
“เขตปลอดภัย” หมายความว่า พื้นที่ในทางเดินรถที่มีเครื่องหมายแสดงไว้ให้เห็นได้ชัดเจนทุกเวลา สำหรับให้คนเดินเท้าที่ข้ามทางหยุดรอหรือให้คนที่ขึ้นหรือลงรถหยุดรอก่อนจะข้ามทางต่อไป
“ที่คับขัน” หมายความว่า ทางที่มีการจราจรพลุกพล่านหรือมีสิ่งกีดขวาง หรือในที่ซึ่งมองเห็นหรือทราบได้ล่วงหน้าว่าอาจเกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่รถหรือคนได้ง่าย
“รถ” หมายความว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง
“รถยนต์” หมายความว่า รถที่มีล้อตั้งแต่สามล้อและเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้าหรือพลังงานอื่น ยกเว้นรถที่เดินบนราง
“รถจักรยานยนต์” หมายความว่า รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และมีล้อไม่เกินสองล้อ ถ้ามีพ่วงข้างมีล้อเพิ่มอีกไม่เกินหนึ่งล้อ
“รถจักรยาน” หมายความว่า รถที่เดินด้วยกำลังของผู้ขับขี่ที่มิใช่เป็นการลากเข็น
“รถฉุกเฉิน” หมายความว่า รถดับเพลิงและรถพยาบาลของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาคและราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่จะกำหนดให้
“รถบรรทุก” หมายความว่า รถยนต์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้บรรทุกสิ่งของหรือสัตว์
“รถบรรทุกคนโดยสาร” หมายความว่า รถยนต์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้บรรทุกคนโดยสารเกินเจ็ดคน
“รถโรงเรียน” หมายความว่า รถบรรทุกคนโดยสารที่โรงเรียนใช้รับส่งนักเรียน
“รถโดยสารประจำทาง” หมายความว่า รถบรรทุกคนโดยสารที่เดินตามทางที่กำหนดไว้ และเรียกเก็บค่าโดยสารเป็นรายคนตามอัตราที่วางไว้เป็นระยะทางหรือตลอดทาง
“รถแท็กซี่” หมายความว่า รถยนต์ที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน
“รถลากจูง” หมายความว่า รถยนต์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับลากจูงรถ หรือเครื่องมือการเกษตร หรือเครื่องมือการก่อสร้าง โดยตัวรถนั้นเองมิได้ใช้สำหรับบรรทุกคนหรือสิ่งของ
“รถพ่วง” หมายความว่า รถที่เคลื่อนที่ไปโดยใช้รถอื่นลากจูง
“มาตรแท็กซี่” หมายความว่า เครื่องแสดงอัตราและค่าโดยสารของรถแท็กซี่โดยอาศัยเกณฑ์ระยะทาง หรือเวลาการใช้รถแท็กซี่ หรือโดยอาศัยทั้งระยะทางและเวลาการใช้รถแท็กซี่
“ผู้ขับขี่” หมายความว่า ผู้ขับรถ ผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่ง ผู้ลากเข็นยานพาหนะ
“คนเดินเท้า” หมายความว่า คนเดินและให้รวมตลอดถึงผู้ใช้เก้าอี้ล้อสำหรับคนพิการหรือรถสำหรับเด็กด้วย
“เจ้าของรถ” หมายความรวมถึงผู้มีรถไว้ในครอบครองด้วย
“ผู้เก็บค่าโดยสาร” หมายความว่า ผู้ซึ่งรับผิดชอบในการเก็บค่าโดยสาร และผู้ดูแลคนโดยสารที่อยู่ประจำรถบรรทุกคนโดยสาร
“ใบอนุญาตขับขี่” หมายความว่า ใบอนุญาตขับรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ใบอนุญาตสำหรับคนขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถจ้าง ใบอนุญาตขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน และใบอนุญาตผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่ง
“สัญญาณจราจร” หมายความว่า สัญญาณใด ๆ ไม่ว่าจะแสดงด้วยธง ไฟ ไฟฟ้า มือ แขน เสียงนกหวีด หรือด้วยวิธีอื่นใด สำหรับให้ผู้ขับขี่ คนเดินเท้า หรือคนที่จูง ขี่ หรือไล่ต้อนสัตว์ ปฏิบัติตามสัญญาณนั้น
“เครื่องหมายจราจร” หมายความว่า เครื่องหมายใด ๆ ที่ได้ติดตั้งไว้ หรือทำให้ปรากฏในทางสำหรับให้ผู้ขับขี่ คนเดินเท้า หรือคนที่จูง ขี่ หรือไล่ต้อนสัตว์ ปฏิบัติตามเครื่องหมายนั้น

คำจำกัดความทางวิศวกรรมจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม
“การจราจร” หมายความว่า คนเดินเท้า ผู้ขับขี่จักรยาน ผู้ขับขี่รถยนต์ และพาหนะอื่น ๆ ที่ใช้ถนนเพื่อการเดินทาง
“เกาะกลางถนน” หมายความว่า พื้นที่ที่แบ่งช่องจราจรเพื่อควบคุมการเคลื่อนตัวของรถหรือเพื่อเป็นที่พักของคนเดินเท้า
“เขตทาง” หมายความว่า พื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานที่สร้างและบำรุงรักษาถนน
“เครื่องหมายเตือน” หมายความว่า เครื่องหมายที่แจ้งให้ผู้ขับขี่ทราบถึงเหตุการณ์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
“เครื่องหมายจราจร” หมายความว่า ป้าย สัญญาณไฟ เครื่องหมายบนพื้นทาง และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้เพื่อควบคุม เตือน หรือแนะนำการจราจร โดยจะติดตั้งอยู่บน หรือข้างถนน ทางจักรยาน ทางเดินเท้าโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับผิดชอบ
“เครื่องหมายจราจรบนพื้นทาง” หมายความว่า เส้น ข้อความ หรือสัญลักษณ์บนพื้นผิวทาง สันขอบทาง และบนอุปสรรคต่าง ๆ ในเขตทาง ที่ใช้ในการนำทางและสื่อข้อมูลการควบคุมการจราจรให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
“เครื่องหมายปุ่มบนพื้นทาง” หมายความว่า เครื่องหมายจราจรบนพื้นทางประเภทหนึ่งซึ่งนูนสูงขึ้นมาจากผิวถนน
“คนเดินเท้า” หมายความว่า คนที่เดินทางโดยการเดิน ใช้รถเข็น รองเท้าสเก็ต หรือสเก็ตบอร์ด
“ความเร็ว” คำจำกัดความของความเร็วเป็นดังนี้
• ความเร็วแนะนำ - ความเร็วที่แนะนำให้ผู้ขับขี่ขับซึ่งกำหนดจากการออกแบบ การใช้งานและสภาพของถนน
• ความเร็วเฉลี่ย - ผลรวมของความเร็วของรถ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือความเร็วเฉพาะจุดที่วิ่งผ่านบริเวณที่กำหนดหารด้วยจำนวนรถทั้งหมด
• ความเร็วในการออกแบบ - ความเร็วที่ใช้ในการออกแบบถนน
• ความเร็วที่ 85 เปอร์เซ็นต์ไทล์ - ความเร็วที่ผู้ขับขี่ร้อยละ 85 หรือน้อยกว่าขับบนท้องถนน
• ความเร็วในทางปฏิบัติ - ความเร็วที่รถประเภทใดประเภทหนึ่งหรือรถโดยรวมขับความเร็วในทางปฏิบัติกำหนดได้จากความเร็วเฉลี่ย หรือความเร็วที่ 85 เปอร์เซ็นต์ไทล์
“ความเร็วจำกัด” หมายความว่า ความเร็วสูงสุดหรือต่ำสุดตามกฎหมายที่อนุญาตให้ขับขี่ในช่วงถนนหนึ่ง ๆ
“จุดขัดแย้งกระแสจราจร” หมายความว่า จุดที่คนเดินเท้าหรือรถใน 2 ทิศทางมีโอกาสเคลื่อนที่มาพบกัน
“ช่วงความเร็ว” หมายความว่า พื้นที่ช่วงหนึ่งของถนนที่มีการควบคุมความเร็วโดยกฎหมาย
“ช่องจราจร” หมายความว่า ส่วนของถนนที่ให้รถวิ่ง ไม่รวมถึงไหล่ทาง ทางเดินเท้า และพื้นที่สำหรับจอดรถ
“ช่องทางรถจักรยาน” หมายความว่า ส่วนหนึ่งของถนนเพื่อใช้เป็นทางเดินของรถจักรยาน มักกำหนดโดยป้าย หรือเครื่องหมายจราจรบนพื้นทาง
“ถนน” หมายความว่า ทางบกหรือสะพานที่ประชาชนใช้ในการจราจร และหมายความรวมถึงทางเท้าหรือขอบทางด้วย
“ถนนในเมือง” หมายความว่า ถนนประเภทหนึ่งซึ่งมีความเร็วต่ำ ค่าปริมาณการจราจรมีช่วงกว้าง (ปริมาณจราจรต่ำสุดและปริมาณจราจรสูงสุดห่างกันมาก) ช่องการจราจรแคบ มีทางแยกมาก มีคนเดินเท้ามากและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและการค้า
“ถนนสายรอง” หมายความว่า ถนนที่เชื่อมต่อภายในตัวอำเภอ
“ถนนสายหลัก” หมายความว่า ถนนที่เชื่อมระหว่างจังหวัด หรือเชื่อมระหว่างอำเภอ
“ทางเท้า” หมายความว่า ส่วนหนึ่งของถนนที่ทำไว้ให้คนเดิน
“ทางแยก” หมายความว่า บริเวณที่ถนนสองเส้นหรือมากกว่ามาเชื่อมต่อกัน
“ทางข้าม” หมายความว่า พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดินเท้าข้ามโดยทำเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนว หรือตอกหมุดไว้บนทาง
“ป้ายเตือน” หมายความว่า ป้ายซึ่งชี้ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทราบถึงเหตุการณ์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
“ป้ายแนะนำ” หมายความว่า ป้ายที่ใช้แสดงเส้นทาง ทิศทางการเดินทาง ระยะทาง บริการต่าง ๆ สถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่น่าสนใจ
“ป้ายบังคับ” หมายความว่า ป้ายที่แจ้งให้ผู้ขับขี่ทราบถึงข้อบังคับและกฎหมายการจราจร
“ผิวทาง” หมายความว่า พื้นถนนที่ลาดด้วยยางมะตอยหรือคอนกรีต
“ผู้เชี่ยวชาญ” หมายความว่า ผู้ที่มีความรู้ทางด้านวิศวกรรมจราจร วิศวกรรมขนส่งและวิศวกรรมการทางเป็นอย่างดี
“ผู้ใช้รถใช้ถนน” หมายความว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน หรือคนเดินเท้าที่อยู่ในบริเวณถนนรวมถึงผู้ที่ดำเนินการก่อสร้าง
“พื้นที่จำกัดความเร็ว” หมายความว่า ช่วงของถนนที่มีการกำจัดความเร็วตามกฎหมาย
“รถ” หมายความว่า ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่งทางบก ซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้าหรือพลังงานอื่น และหมายความรวมตลอดถึงรถพ่วงของรถนั้นด้วย ทั้งนี้เว้นแต่รถไฟ
“รถจักรยาน” หมายความว่า รถที่เดินด้วยกำลังของผู้ขับขี่ที่ไม่ใช่การลากเข็น
“ระยะการมองเห็น” หมายความว่า ความยาวบนถนนที่ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นได้
“สะท้อนแสง” หมายความว่า คุณสมบัติของพื้นผิวที่สามารถสะท้อนแสงกลับไปได้
“สัญญาณไฟกระพริบ” หมายความว่า สัญญาณไฟที่มีการเปิดและปิดสลับกัน
“สัญญาณไฟจราจร” หมายความว่า สัญญาณไฟที่ใช้ในการควบคุมการเคลื่อนที่ของรถให้หยุดหรือไปได้
“เส้นแบ่งช่องจราจร” หมายความว่า เครื่องหมายจราจรบนพื้นทางซึ่งเป็นเส้นสีขาว ใช้แบ่งช่องจราจรที่รถเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน
“เส้นแบ่งทิศทางจราจร” หมายความว่า เส้นแบ่งการจราจรที่มีทิศทางตรงข้ามกัน เส้นแบ่งทิศทางการจราจรนี้ อาจไม่อยู่กึ่งกลางถนนก็ได้ขึ้นอยู่กับการจัดจำนวนช่องจราจร
“เส้นขอบทาง” หมายความว่า เครื่องหมายบนพื้นทางที่เป็นเส้นสีขาวหรือสีเหลือง ใช้บอกขอบเขตของทางเดินรถหรือผิวจราจรทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวา
“เส้นชะลอความเร็ว” หมายความว่า เส้นที่มีลักษณะขรุขระ อาจนูนขึ้นมาหรือลึกลงไปในถนนก็ได้ วางตามแนวขวางเรียงกันไปหลาย ๆ เส้นโดยมีการเว้นช่องว่าง เพื่อเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทราบถึงสภาพถนนที่เปลี่ยนไปจากสภาวะปกติ
“เส้นทางคนข้าม” หมายความว่า เครื่องหมายบนพื้นทางที่เป็นแถบสีขาวซึ่งใช้แสดงถึงทางข้าม
“เส้นหยุด” หมายความว่า เครื่องหมายบนพื้นทางสีขาว วางพาดขวางช่องจราจรเพื่อกำหนดจุดที่รถต้องหยุด หรือเส้นทึบสีขาวซึ่งขีดขวางช่องทางจราจรเพื่อแสดงตำแหน่งที่รถควรหยุด
“เหตุอันควร” หมายความว่า เหตุอันควรเป็นสภาพเงื่อนไขพื้นฐานในสถานการณ์ปกติที่ใช้ประเมินประโยชน์ของเครื่องหมายจราจรในด้านความปลอดภัยและการดำเนินการ

 Assist. Prof. Nirachorn Nokkaew : Deptartment of Civil , Faculty of Engineering , Rajamangala University of Technology Thanyaburi 
 Please Contact E-mail Address : nirachorn@gmail.com , Website : www.nirachorn.com 
 Copyright © 1997-2017 by Nirachorn Nokkaew , All Rights Reserved. ® : Webmaster